วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาวนาไทย ตั้งอยู่ที่ถนนพระพันวษา ตำบลท่าพี่เลี้ยง เป็นอาคารคอนกรีต ออกแบบผสมผสานระหว่างเรือนไทยและยุ้งฉางของชาวนา เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการทำนาโดยไม่ได้จัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุ ชั้นล่าง จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของการทำนา เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนา ประเพณีวิถีชีวิตของชาวนา เรื่องราวของข้าวในอดีต และที่น่าสนใจ คือ การพบเศษภาชนะดินเผาที่บ้านบางปูน ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งอาจเป็นหลักฐานพระราชพิธีแรกนาขวัญในสมัยอยุธยา ชั้นบน จัดแสดงพระราชจริยวัตรพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูชาวนาไทยทรงพัฒนาการทำนาและการเกษตรของชาติ มีการจัดแสดงภาพจำลองเหตุการณ์พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ริมถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท ภายในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมภาตตะวันตกจังหวัดสุพรรณบุรี ตรงข้ามกับศูนย์ราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบด้วยวิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี หอจดหมายเหตุแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรีเฉลิมพระเกียรติ และโรงละครแห่งชาติภาคตะวันตกจังหวัดสุพรรณบุรี ที่จัดตั้งขึ้นตามโครงการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมือง สนองแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายในอาคารนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดง ประวัติฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมืองสุพรรณบุรีในอดีต พัฒนาการของเมืองสุพรรณบุรีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี ลพบุรี อยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ จัดแสดงเหตุการณ์สำคัญครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนะศึกยุทธหัตถีผ่านสื่อโสตทัศนูปกรณ์ จัดแสดงประวัติความเป็นมาและวัฒนธรรมของกลุ่มชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี รวมถึงประวัติบุคคลสำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรีในอดีต ท่านสามารถชมพระพิมโบราณจากกรุวัดที่มีชื่อเสียงต่างๆ ในเมืองสุพรรณบุรี
โรงละครแห่งชาติภาตตะวันตก ตั้งอยู่ริมถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท ภายในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมภาคตะวันตกจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นโรงละครภูมิภาค ซึ่งกำหนดให้สร้างขึ้นสำหรับภาคตะวันตกของประเทศ เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ด้านการแสดง ให้บริการทางวิชาการด้านนาฏศิลป์ ดนตรี รวมทั้งเป็นสถานที่จัดกิจกรรม เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างชาติ ประจำภาคตะวันตก มีการจัดการแสดงละครและกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม โดยนักเรียนของวิทยาลัยนาฎศิลป
กำแพงเมืองเก่า และประตูเมือง อยู่ที่ตำบลรั้วใหญ่ โดยยังหลงเหลือแนวกำแพงดินและคูเมืองให้เห็นระหว่างทางไปวัดป่าเลไลยก์กับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง กำแพงทางด้านทิศตะวันตกของเมืองทำแข็งแรงเป็นพิเศษสองชั้น มีคูน้ำกั้นอยู่ชั้นนอก มีเนินดิน และกำแพงอยู่ชั้นในยาวถึง 3,500 เมตร ส่วนด้านกว้างกำแพงยาว 1,000 เมตร จดแม่น้ำ ด้านตะวันออกไม่พบตัวกำแพง เพราะถูกรื้อในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
บ้านยะมะรัชโช ตั้งอยู่ที่ถนนหมื่นหาญ ตำบลท่าพี่เลี้ยง บ้านหลังนี้เคยเป็นบ้านของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ลักษณะบ้านเป็นเรือนหมู่ สภาพปัจจุบันเหลือตัวเรือนเดิม เรือนนอน 2 หลัง หอกลาง 1 หลัง หอนั่งสร้างใหม่แทนของเดิม 1 หลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จบ้านหลังนี้ 2 ครั้ง และได้พระราชทานชื่อบ้านไว้ ต่อมาจังหวัดฯ ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์บ้านยะมะรัชโช โดยส่งเข้าประกวดโครงการดีเด่นในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในเมือง ได้รับรางวัลพร้อมโล่และใบประกาศเกียรติคุณ ปัจจุบันนี้บ้านยะมะรัชโชเป็นของกองทุนมูลนิธิพระยาสุนทรสงคราม (ปุย สุวรรณศร)
วัดแค เป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อปรากฏในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน อยู่ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ภายในวัดนี้มีต้นมะขามใหญ่วัดโคนต้นโดยรอบได้ประมาณ 9.50 เมตร อายุประมาณ 1,000 ปี เชื่อกันว่าขุนแผนได้เรียนวิชาเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อตัวแตนจากต้นมะขามต้นนี้กับท่านอาจารย์คงเพื่อใช้เวลาโจมตีข้าศึก ใกล้กับต้นมะขามยักษ์นี้ทางจังหวัดได้สร้างเรือนไทยทรงโบราณเรียกว่า “คุ้มขุนแผน” เพื่อเป็นอุทยานวรรณคดีและเป็นการอนุรักษ์ศิลปด้านวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
วัดประตูสาร
อยู่ที่ถนนขุนช้าง ตำบลรั้วใหญ่ เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง ไม่มีหลักฐานเก่าระบุว่าสร้างเมื่อใด แต่คงจะสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2379 ซึ่งเป็นปีที่สุนทรภู่มาสุพรรณบุรี ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติฝีมือช่างหลวง เชื่อกันว่าเป็นคนเดียวกับที่เขียนจิตรกรรมฝาผนังวัดหน่อพุทธางกูร เขียนราว พ.ศ. 2391 นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมที่เขียนบนพื้นไม้เป็นแผ่นๆ เรื่องพุทธประวัติและมหาชาติ ลักษณะของภาพเหมือนจะลอกแบบจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ เก็บรักษาอยู่ในวิหาร
วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร ตั้งอยู่ที่ริมถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่หน้าบันของวิหารวัดป่าเลไลยก์มีเครื่องหมายพระมหามกุฎอยู่ระหว่างฉัตรคู่ บอกให้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จธุดงค์มาพบสมัยยังทรงผนวชอยู่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงมาปฏิสังขรณ์ วัดนี้สร้างในสมัยที่เมืองสุพรรณบุรีรุ่งเรือง ที่วัดแห่งนี้ประชาชนนิยมมานมัสการ “หลวงพ่อโต” ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารสูงเด่นเห็นแต่ไกล เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ศิลปะสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิมีลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุอีกข้างหนึ่งในท่าทรงรับของถวาย องค์พระสูง 23.46 เมตร รอบองค์ 11.20 เมตร มีนักปราชญ์หลายท่านว่า หลวงพ่อโตเดิมคงเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา สร้างไว้กลางแจ้งเหมือนพระพนัญเชิงในสมัยแรกๆ
วัดพระนอน ตั้งอยู่ตำบลพิหารแดง สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในวัดมี อุทยานมัจฉา อยู่บริเวณริมน้ำหน้าวัด มีปลานานาชนิดชุกชุม ทั้งปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาแรด ทางวัดประกาศเป็นเขตอภัยทาน ปลูกต้นไม้ ทั้งไม้ผลและไม้ประดับ บริเวณวัดจึงร่มรื่นสวยงาม และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ขึ้นหน้าขึ้นตาแห่งหนึ่งของจังหวัด และยังมีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์สลักจากหิน มีลักษณะแปลกกว่าที่อื่น คือ เป็นพระพุทธรูปอยู่ในลักษณะนอนหงายขนาดเท่าคนโบราณยาวประมาณ 2 เมตร ลักษณะคล้ายกับพระนอนที่เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
วัดพระรูป ตั้งอยู่ที่ถนนขุนช้าง เป็นวัดเก่าแก่มีอายุอยู่ในสมัยอู่ทองตอนปลาย ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ก่ออิฐถือปูน ยาว 13 เมตร สูง 3 เมตร ชาวบ้านเรียกว่า เณรแก้ว พระพักตร์กลมยาวคล้ายผลมะตูม ผินพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก สร้างในราว พ.ศ. 1800 -1893 และถือว่าเป็นพระนอนที่มีพระพักตร์งามที่สุดในประเทศไทย
วัดพระลอย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลรั้วใหญ่ สาเหตุที่สร้างวัดนี้น่าจะมาจากที่มีพระพุทธรูปปางนาคปรกเนื้อหินทรายขาวลอยมาตามแม่น้ำท่าจีน จึงได้ทำพิธีอาราธนาขึ้นมาจากแม่น้ำ สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยลพบุรี นอกจากนี้ยังมีโบสถ์ที่ปรักหักพังสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ทางวัดได้ปฏิสังขรณ์โดยสร้างโบสถ์ใหม่ครอบ และยังมีอุโบสถจตุรมุขใหญ่ สูงเด่น สง่างาม ประดิษฐานพระพุทธนวราชมงคล สวยงามมาก และมีพระพุทธรูปเนื้อหินทรายปางต่างๆ เก่าแก่มาก
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อยู่ถนนสมภารคง เขตตำบลรั้วใหญ่ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง มีอายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี ปรางค์องค์ประธานเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่ถูกลักลอบขุดค้นหาทรัพย์สินจนทรุดโทรมไปมาก กรุในองค์พระปรางค์นี้เป็นต้นกำเนิดพระพิมพ์ผงสุพรรณบุรีที่โด่งดังมาก อันเป็นหนึ่งใน “เบญจภาคี” 5 พระเครื่องยอดนิยม อันได้แก่ พระสมเด็จนางพญาของสมเด็จพระพุทธาจารย์(โต) วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร พระผงสุพรรณ จังหวัดสุพรรณ พระสมเด็จนางพญา จังหวัดพิษณุโลก พระทุ่งเศรษฐี จังหวัดกำแพงเพชรและพระรอด จังหวัดลำพูน
วัดพร้าว อยู่ที่ตำบลโพธิ์พระยา ภายในวัดมีวิหารลักษณะเด่น คือ เลียนแบบสถาปัตยกรรมพม่า หลังคาซ้อนชั้นทรงสูง มีความงดงามแปลกตา เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ด้านหลังวัดยังมีหอไตรกลางน้ำ ตู้พระธรรม
วัดมหาธาตุ หรือ วัดพระธาตุศาลาขาว อยู่ตรงข้ามกับวัดสวนแตง ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดพระธาตุนอก เพราะลักษณะพระปรางค์คล้ายกับพระปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุแต่ขนาดย่อมกว่า มีความสูงประมาณ 20-25 เมตร จากสภาพที่หลงเหลือปัจจุบันเป็นพระปรางค์เดี่ยว มีบันไดและซุ้มประตู ยอดพระปรางค์มนกว่ายอดพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งมียอดแหลม แผ่นอิฐมีขนาดเล็ก และสอด้วยปูนหวาน เนื้อหยาบ จากหลักฐานของโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบได้จากพระปรางค์ สันนิษฐานได้ว่า วัดนี้สร้างในราว พ.ศ. 1967-2031 ในรัชสมัยพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) หรือพระบรมไตรโลกนาถ
วัดสนามชัย ตั้งอยู่ตำบลสนามชัย จากพงศาวดารเหนือเล่าว่า พระเจ้ากาแต ทรงให้มอญน้องผู้เป็นญาติสร้างขึ้นพร้อมกับบูรณะวัดป่าเลไลยก์ สันนิษฐานว่าสร้างก่อนปี พ.ศ. 1746 พบซากเจดีย์ขนาดใหญ่และกำแพงแก้วพร้อมเจดีย์บริวารเล็กๆ ทั้งสี่ทิศ เมื่อปี พ.ศ. 2504–2505 กรมศิลปากรขุดแต่งองค์เจดีย์ ภายในกลวง พบอัฐิธาตุป่นปนกับเถ้าถ่านจำนวนมากบรรจุไว้ในองค์เจดีย์ นักโบราณคดีให้ข้อสันนิษฐานและคำอธิบายว่า เจดีย์วัดสนามชัย เป็นเจดีย์ 16 เหลี่ยม กว้างด้านละ 48 เมตร ยาวด้านละ 62 เมตร สันนิษฐานจากศิลปะการก่อสร้างว่ามีการสร้างซ้อนกันอย่างน้อย 2 สมัย ตั้งแต่สมัยทวารวดี-สมัยอู่ทอง และสมัยอยุธยา
วัดสุวรรณภูมิ (วัดกลางหรือวัดใหม่) เป็นวัดสมัยอยุธยาตอนต้น ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ถนนพระพันวษา สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริมหาเถระ) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2514 อาคารมี 2 ชั้นเป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ เช่น พระพุทธรูป นาฬิกา อาวุธ เชี่ยนหมาก ถ้วยชาม แจกัน แก้ว โดยเฉพาะบาตรสังคโลกสมัยสุโขทัยพุทธศตวรรษที่ 18–19 ซึ่งมีชิ้นเดียวในประเทศไทย
วัดหน่อพุทธางกูร (เดิมชื่อ วัดมะขามหน่อ)
ตั้งอยู่ที่ตำบลพิหารแดง เป็นวัดเงียบสงบสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ภายในพระอุโบสถหลังเก่ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ ค่อนข้างสมบูรณ์ชัดเจน เป็นจิตรกรรมที่มีความงดงาม เขียนราว พ.ศ. 2391 ในสมัยรัชกาลที่ 3
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี เดิมเป็นศาลไม้ทรงไทยมีเทวรูปพระอิศวรและพระนารายณ์สวมหมวกเติ๊ก(หมวกทรงกระบอก) สลักด้วยหินสีเขียว ปัจจุบันได้สร้างศาลเป็นรูปวิหารและเก๋งจีน เจ้าพ่อหลักเมืองนี้เป็นพุทธประติมากรรมสลักบนแผ่นหินแบบนูนต่ำในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน แบบศิลปเขมรอายุราว พ.ศ.1185–1250 หรือประมาณ 1,300-1,400 ปีมาแล้ว มีพระนามว่า พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือที่เรียกกันว่า พระนารายณ์สี่กร เป็นที่สักการะบูชาทั้งชาวไทยและชาวจีน ตามประวัติกล่าวว่า ประมาณ 150 ปีมาแล้วมีผู้พบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จมดินจมโคลนอยู่ริมคลองศาลเจ้าพ่อ จึงได้ช่วยกันอัญเชิญขึ้นข้างบนพร้อมกับสร้างศาลเป็นที่ประทับ ในคราวเสด็จประพาสต้นเมื่อ พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จทรงกระทำพลีกรรมเจ้าพ่อหลักเมืองและพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อเขื่อนรอบเนินศาล ทำชานสำหรับคนบูชา สร้างกำแพงแก้ว ต่อตัวศาลออกมาเป็นเก๋งแบบจีน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์กับเจ้าพระยายมราช ทรงสนพระทัยในการปรับปรุงศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เมื่อในราว พ.ศ. 2480
ศูนย์ฝึกอบรมช่างสิบหมู่สุพรรณบุรี ตั้งอยู่ที่ ถ.มาลัยแมน ดำเนินงานโดยกรมศิลปากร มีนโยบายในการฝึกอบรมงานช่างสิบหมู่ในสาขาวิชาดังนี้ หมู่ช่างเขียน หมู่ช่างรัก หมู่ช่างแกะ หมู่ช่างสลัก หมู่ช่างหล่อ หมู่ช่างหุ่น หมู่ช่างบุ หมู่ช่างปูนและหมู่ช่างกลึง เพื่อเป็นการสนับสนุนและสืบสานงานศิลปะและวัฒนธรรม อันเป็นมรดกล้ำค่าของชาติที่ควรอนุรัษ์
สวนนกท่าเสด็จ (หน่วยอนุรักษ์นกท่าเสด็จ) ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเสด็จ ตำบลสระแก้ว สวนนกแห่งนี้ตั้งอยู่ในที่ดินของป้านก พันธุ์เผือก และลุงจอมกับป้าถนอม มาลัย เดิมเป็นสวนผลไม้ในระยะแรกยังมีนกไม่มาก ต่อมานกเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เจ้าของที่ดินเป็นคนใจดีจึงปล่อยให้นกมาอาศัยทำรังจนนกเพิ่มเป็นจำนวนนับหมื่นตัว นับเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วมีนกหลายชนิด เช่น นกปากห่าง นกกระสา นกยาง และนกช้อนหอย
หอคอยบรรหาร-แจ่มใส และ สวนเฉลิมภัทรราชินี ตั้งอยู่ถนนนางพิม เป็นหอคอยชมวิวแห่งแรก และสูงที่สุดในประเทศไทยมองเห็นโดดเด่นอยู่กลางเมือง มีความสูงถึง 123.25 เมตร ฐานกว้าง 30 เมตร การขึ้นเที่ยวชมหอคอย จะมีจุดแวะพักชมวิว 4 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นที่จำหน่ายบัตรและของที่ระลึก ชั้นที่ 2 เป็นร้านจำหน่ายเครื่องดื่มอาหารว่างและจุดนั่งชมสวน ชั้นที่ 3 เป็นร้านจำหน่ายของที่ระลึกและจุดชมตัวเมือง ชั้นที่ 4 อยู่ในระดับสูงสุด 78.75 เมตร เป็นจุดชมทิวทัศน์ของจังหวัดสุพรรณบุรีโดยรอบ
วัดสวนหงษ์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน เป็นสถานที่แข่งเรือยาวเป็นประจำทุกปี โดยทางเจ้าอาวาสได้มีการเก็บสะสมเรือชนิดต่างๆที่ได้พบเห็นมาไว้ในวัดได้มากกว่า 70 ลำ
อุทยานมัจฉา วัดป่าพฤกษ์ อยู่ที่ตำบลบ้านแหลม บริเวณหน้าวัดมีฝูงปลาโดยเฉพาะปลายสวาย ปลาเทโพ ปลานิล เป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวสามารถยืนชม และให้อาหารปลาได้อย่างใกล้ชิดบริเวณริมแม่น้ำซึ่งทางวัดก่อสร้างเป็นเขื่อนทางเท้าริมน้ำยาวประมาณ 100 เมตร
บ้านควาย ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 340 (สุพรรณบุรี-ศรีประจันต์) เป็นสถานที่รวบรวมวิถีชีวิตแบบพื้นบ้านภาคกลาง มีพื้นที่ 100 กว่าไร่ แบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ เช่น หมู่บ้านชาวนาแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย มีลานนวดข้าว คอกควาย โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ บ้านเรือนไทยภาคกลาง เรือนแต่ละหลังมีกิจกรรมสำหรับผู้สนใจ เช่น เรือนแพทย์แผนไทย การนวดแผนไทย และการใช้สมุนไพร เรือนโหราศาสตร์ มีลานแสดงควาย
วัดบ้านกร่าง เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นวัดที่มีกรุพระขุนแผนบ้านกร่าง เป็นเนื้อดินเผาศิลปะอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับพระมหาอุปราช เมื่อตอนยกทัพกลับผ่านอำเภอศรีประจันต์ ได้พักทัพริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี ทรงรับสั่งให้ทหารสร้างพระเครื่องซึ่งเล่ากันว่า เป็นจำนวนถึง 84,000 องค์ บรรจุในกรุวัดบ้านกร่าง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ทหารที่เสียชีวิต พระพิมพ์บ้านกร่างคู่เป็นพระที่มีความหมายมาก ในการสร้างพระครั้งนี้แม่พิมพ์แกะเป็นสององค์คู่กัน โดยสมมติให้เป็นองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ พระรูปแบบนี้หายากในกรุอื่นๆ
โบราณสถานบึงหนองสาหร่าย เป็นหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามยุทธหัตถีสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาแห่งพม่า สมเด็จพระนเรศวรทรงเลือกบริเวณหนองสาหร่ายเป็นที่ตั้งทัพ เพราะน้ำบริเวณหนองสาหร่ายมีมากพอที่จะให้ทหารจำนวนแสนคน พร้อมช้าง ม้าได้อาศัยเป็นเวลาแรมเดือน ประกอบกับเป็นชัยภูมิที่ตั้งสูงห่างข้าศึก
พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ ประกอบด้วย พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพระคชาธารออกศึก และ องค์เจดีย์ยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในสงครามยุทธหัตถีที่ทรงมีต่อพระมหาอุปราชาแห่งพม่าเมื่อเดือนมกราคมในปี พ.ศ.2135 และในปี พ.ศ. 2495 กองทัพบกได้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นเจดีย์แบบลังกาทรงกลมใหญ่ สูง 66 เมตร ฐานกว้างด้านละ 36 เมตร ครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสด็จไปประกอบพิธีบวงสรวงและเปิดพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2502
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ตั้งอยู่ที่ถนนมาลัยแมน เป็นสถานที่รวบรวมศิลปะโบราณวัตถุในสมัยต่างๆ ที่ขุดค้นพบ แสดงวิวัฒนาการของมนุษย์ยุคต่างๆ ที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแถบสุพรรณบุรี แบ่งออกเป็น 2 อาคาร คือ อาคารที่ 1 จัดแสดงการค้นพบเมืองอู่ทองสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยวัฒนธรรมทวารวดี พระพุทธรูปสมัยทวารวดี อาคารที่ 2 จัดแสดงห้องชาติพันธุ์วิทยาและลูกปัดที่ค้นพบในเมืองอู่ทองตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยทวารวดี ส่วนลานกลางแจ้งสร้างเป็นเรือนแบบลาวโซ่ง จัดแสดงวัฒนธรรมประเพณี การแต่งกาย เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวลาวโซ่ง
วนอุทยานพุม่วง ตั้งอยู่ตำบลจระเข้สามพัน ่ สภาพพื้นที่เป็นป่าเบญจพรรณสลับกับป่าไผ่รวก ภายในวนอุทยานมีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่เส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ระหว่างทางเดินจะเห็นไม้เบญจพรรณจำพวกไม้มะค่า ไผ่ จันทน์กะพ้อ จันทน์ผา คอกช้างดินสมัยทวารวดี อยู่ไม่ไกลจากที่ทำการ อายุราว 1,500 ปี จำนวน 3 คอก มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ฐานวิหารศิลาแลงสมัยทวารวดี สันนิษฐานว่าใช้เป็นที่สำหรับกษัตริย์ทำพิธีบวงสรวงสังเวยเพื่อคล้องช้างป่าน้ำตกพุม่วง ซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผน มีทั้งหมด 5 ชั้น ตลอดเส้นทางที่น้ำตกไหลผ่าน จะผ่านจุดที่น่าสนใจ คือ คอกช้างดินและฐานศิลาแลง หากขึ้นไปบนเทือกเขาพระจะเห็นพันธุ์ไม้นานาชนิดอาทิ เช่น จันทน์กะพ้อ และปรงเผือก มี ลานหิน ที่มีก้อนหินน้อยใหญ่วางสลับกัน บางแห่งก็รวมกันเป็นเชิงชั้น มีต้นปรงขึ้นสลับ
วัดเขาดีสลัก ตั้งอยู่ตำบลดอนคา สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ รอยพระพุทธบาทจำลองสร้างด้วยหินทรายสีแดง มีลักษณะแตกต่างจากรอยพระพุทธบาทที่พบที่อื่น คือ รอยพระพุทธบาทนูน ขนาดกว้างประมาณ 65.5 เซนติเมตร ยาว 141.5 เซนติเมตร นักโบราณคดีให้ความเห็นว่าเป็นศิลปะสมัยทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-16 มีทางรถขึ้นไปชมรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ทางวัดปรับปรุงภูมิทัศน์บนยอดเขา มองเห็นวิวทิวทัศน์สวยงามในเขตอำเภออู่ทองโดยรอบ
วัดเขาพระศรีสรรเพชญารามตั้งอยู่ที่ถนนมาลัยแมน ในตัวอำเภออู่ทอง เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าตั้งแต่สมัยทวารวดี เพราะมีโบราณวัตถุหลายชิ้น เช่น พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ซึ่งสลักจากเนื้อหิน เทวรูปจักรนารายณ์เนื้อหิน บนยอดเขาพบซากเจดีย์อยุธยา 1 องค์ และยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองแกะสลักด้วยหินเขียวธรรมชาติ ประดิษฐานไว้ในมณฑปบนยอดเขาอีกด้วย
ตลาดริมน้ำร้อยปี ตั้งอยู่แยกเข้าอำเภอสามชุก เป็นชุมชนชาวจีนเก่าแก่ที่ยังคงสภาพบ้านเรือน และตลาดแบบดั้งเดิม สิ่งที่น่าสนใจได้แก่อาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารไม้โบราณขนาด 3 ชั้น ซึ่งท่านเจ้าสัวเจ้าของตลาดมอบให้เป็นแหล่งรวบรวมภาพถ่ายวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยก่อน ร้านถ่ายรูปโบราณที่ยังมีกล้องถ่ายภาพเก่าแก่อายุกว่าร้อยปีให้บริการ ร้านขายยาสมุนไพร และเพลิดเพลินกับขนม อาหารพื้นเมือง และกาแฟโบราณที่ยังใช้เครื่องคั่วกาแฟแบบดั้งเดิมบริเวณริมน้ำ
วัดลาดสิงห์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านสระ เป็นวัดเก่าแก่เดิมชื่อ “วัดราชสิงห์” มีคำเล่าสืบทอดกันมาว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นมาภายหลังจากที่ประสบชัยชนะในสงครามยุทธหัตถีและทรงทราบข่าวว่า พระสุพรรณกัลยาที่เป็นตัวประกันอยู่ที่เมืองพม่าถูกประหารชีวิต เป็นการล้างแค้นที่พระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ด้วยพระแสงของ้าว พระองค์จึงทรงสร้างวัดเพื่ออุทิศพระกุศลให้แด่พระสุพรรณกัลยา ปัจจุบันวัดยังมีร่องรอยประวัติศาสตร์ ที่กล่าวถึงคือ “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปศิลาแลง ปางสะดุ้งมาร (มารวิชัย) เกตุบัวตูม อายุประมาณ 500 ปี ภายในบริเวณเป็นที่ประดิษฐานของอนุสาวรีย์ 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และพระสุพรรณกัลยา
วัดสามชุก
ตั้งอยู่ตำบลสามชุก เป็นวัดเก่าแก่โบราณไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใดมีสิ่งที่เป็นหลักฐานว่าเป็นวัดเก่า คือรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานในมณฑป กรมศิลปากรได้จดทะเบียนเป็นวัตถุโบราณ พระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานในมณฑปเป็นพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยา ปัจจุบันปฏิสังขรณ์และนำมาประดิษฐานเป็นพระประธานบนศาลาการเปรียญ และยังมีหงส์สัมฤทธิ์ 1 คู่ อดีตตั้งอยู่หน้ามณฑป ปัจจุบันอยู่ที่หอสวดมนต์ 1 ตัวและที่กุฏิพิพิธภัณฑ์ 1 ตัว บริเวณหอสวดมนต์ประดิษฐานหลวงพ่อธรรมจักร พระพุทธรูปสมัยอู่ทอง
บึงฉวาก เป็นบึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,700 ไร่ อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองสุพรรณประมาณ 64 กิโลเมตร บึงฉวากมีพื้นที่ติดต่อกับอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาทและอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนที่อยู่ในเขตอำเภอเดิมบางนางบวชมีพื้นที่ประมาณ 1,700 ไร่ บึงฉวากได้รับประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526
วัดขวางเวฬุวัน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณในสมัยทวารวดี หรือเมืองนเรศ (ภาษาท้องถิ่น) อายุประมาณ 400 ปี เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ อิฐโบราณ เป็นบ้านเกิดของนักร้องชื่อดัง คือ สายัณห์ สัญญา แหล่งกำเนิดของสามเสือสุพรรณ คือ เสือดำ นามสกุล สะราคำ เสือใบ เสือฝ้าย
วัดเดิมบาง สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ ธรรมาสน์ที่สร้างโดยช่างชาวจีน เป็นศิลปะไทยผสมจีน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2458 สร้างเสร็จ พ.ศ. 2466 ปัจจุบันเก็บไว้บนศาลาการเปรียญ นอกจากนั้นที่หอสวดมนต์ยังเก็บของมีค่าของวัดไว้ 3 ชิ้น ได้แก่ ฝาบาตรมุก ตาลปัตร และปิ่นโต ซึ่งรัชกาลที่ 5 พระราชทานแก่วัด ทางวัดเก็บรักษาไว้อยู่ในสภาพดี และยังมีมณฑปและหอระฆังที่ก่อสร้างอย่างประณีตสวยงาม ส่วนภายในพระอุโบสถที่บูรณะใหม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสภาพสมบูรณ์
วัดหัวเขา ตั้งอยู่ตำบลหัวเขา ในตัวอำเภอเดิมบางนางบวช จะเห็นบันไดขึ้น-ลงเขาทำด้วยคอนกรีตจำนวนรวม 212 ขั้น ทุกปีทางวัดจะจัดงานประเพณีตักบาตรเทโว ซึ่งเป็นพิธีทำบุญของชาวไทยในเทศกาลออกพรรษา
วัดทับกระดาน อยู่ที่อำเภอสองพี่น้อง เป็นอำเภอบ้านเกิดของพุ่มพวง ดวงจันทร์ นักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังซึ่งมีคนนิยมฟังเพลงของเธอมากมายและได้เสียชีวิตไป ทำให้แฟนเพลงเสียใจกันมาก จึงมีการเก็บรวบรวมเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้ในการร้องเพลง รวมทั้งรูปถ่ายจากข่าวหนังสือพิมพ์ไว้ในโบสถ์ของวัดนี้ เนื่องจากพุ่มพวงคุ้นเคยกับวัดนี้ตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้บริเวณศาลาท่าน้ำจะมีรูปวาดของพุ่มพวง ดวงจันทร์ที่มีคนนำมาให้เพื่อแก้บน
วัดไผ่โรงวัว ตั้งอยู่ที่ตำบลบางตาเถร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2469 เป็นวัดที่มีพุทธศาสนิกชน และบุคคลทั่วไปนิยมไปเที่ยวชมกันมากเพราะท่านพระครูอุทัยภาคาธร (หลวงพ่อขอม) ได้ดำเนินการก่อสร้าง “พระพุทธโคดม” เป็นพระพุทธรูปโลหะสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่สำคัญหลายแห่ง เช่น “สังเวชนียสถาน 4 ตำบล” คือ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนาและปรินิพพาน มีส่วนที่แสดงงานประติมากรรม เกี่ยวกับพุทธประวัตินรกภูมิ สวรรค์ภูมิ นอกจากนี้ยังมี “พระกะกุสันโธ” พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้านหน้าพระพุทธรูปมี “ฆ้อง และบาตร” ใหญ่ที่สุดในโลก และยังมี “พระวิหารร้อยยอด” และ “พระธรรมจักร” หล่อด้วยทองสำริดใหญ่ที่สุดในโลก
เขื่อนกระเสียว อยู่ที่ตำบลด่านช้าง ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยกระเสียว ของกรมชลประทาน เป็นเขื่อนดินกักเก็บน้ำสร้างกั้นลำห้วยกระเสียว ยาว 4,250 เมตร สูง 32.50 เมตร ปริมาณน้ำที่สามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุด 240 ล้านลูกบาศก์เมตร นับเป็นเขื่อนดินที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทยและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง
ถ้ำเวฬุวัน ตั้งอยู่ในบริเวณวัดวังคัน มีบันไดคอนกรีตขึ้นถึงบริเวณปากถ้ำ จำนวน 61 ขั้น สภาพภายในถ้ำมีไฟฟ้าสว่างพอให้นักท่องเที่ยวเห็นสภาพภายในถ้ำ ซึ่งมีหินงอกและหินย้อยสวยงาม และมีพระพุทธรูปจำลองปางป่าเลไลยก์ให้นักท่องเที่ยวได้สักการะบูชา นอกจากนั้นในบริเวณวัด ทางอำเภอได้จัดทำเป็นสวนไผ่เทิดพระเกียรติ มีพันธุ์ไผ่ต่าง ๆ
อุทยานแห่งชาติพุเตย ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ ป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำและป่าเขาห้วยพลู อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรีและวนอุทยานถ้ำเขาวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าชุกชุม เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารด้านการเกษตรของจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดกาญจนบุรี บนยอดเขามีป่าสนสองใบหลายพันต้น